คลังยันต้องปรับโครงสร้าง รฟท.เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อรองรับกับงบจากไทยเข้มแข็งอีกกว่า 4 เท่า หรือเกือบ 5 หมื่นล้านต่อปี ระบุหากทำได้ตามแผนจะพลิกฟื้น รฟท. มีกำไรอย่างต่อเนื่อง...
นายอารีย์พงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีแผนปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า การรถไฟมีความจำเป็นจะต้อง เร่งดำเนินการตามแผนให้ได้ ทั้งนี้ แผนครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของการรถไฟเนื่องจากที่ผ่านมาภาพรวมของปัญหาในการรถไฟนั้น ประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรงโดยหนี้เงินกู้มีประมาณ 72,800 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยจ่ายต่อปีประมาณ 2,100 ล้านบาท ส่งผลทำให้การดำเนินงานถดถอยและขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 51 ขาดทุนสุทธิที่ 10,142 ล้านบาท ทำให้ขาดความสามารถทางการแข่งขันอีกทั้งยังมีภาระบำเหน็จบำนาญมากสูงขึ้นเรื่อย โดยค่าใช้จ่ายในปี 51 มีประมาณ 2,700 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปี ในปี 2570 รวมไปถึงที่ผ่านมาการรถไฟยังขาดกลยุทธ์ในการดำเนินงานเนื่องจากโครงสร้างองค์กรซับซ้อนและไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ประกอบกับขาดความชัดเจนด้านนโยบายดำเนินงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ในด้านภาระหนี้สินเงินกู้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้ในอดีตทำให้ภาระหนี้และดอกเบี้ยลดลง ส่วนด้านการดำเนินงานที่ถดถอยนั้น ปัจจุบันรัฐบาลมีการให้เงินอุดหนุนในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะให้กับการรถไฟ แล้ว เพื่อให้การลงทุนรวดเร็วขึ้นซึ่งจะทำให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้
ในด้านภาระบำเหน็จบำนาญเห็นว่าการบริหาร ทรัพย์สินในเชิงรุกจะทำให้การรถไฟมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเพียงพอให้สามารถจ่ายค่าบำเหน็จบำนาญได้โดยไม่เป็นภาระต่อองค์กรและรัฐบาล และในด้านการขาดกลยุทธ์ในการดำเนินงานนั้นจะต้องทำให้มีการกำกับดูแลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสามารถจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจและหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาขององค์กรยังรวมไปถึงการตั้ง 2 บริษัทลูก คือบริษัทบริหารทรัพย์สินและบริษัทเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์
อย่างไรตาม ปัจจุบันนี้เป็นจังหวะที่ระบบขนส่งทางรางจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการลดภาระด้านต้นทุนและจะส่งผลทำให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการรถไฟ ไม่ได้พัฒนาเส้นทางใหม่เลย แต่การลงทุนทางรางทั้งหมดเป็นการสร้างทางคู่และเพิ่มประสิทธิภาพรางเก่า โดยสร้างรางรถไฟใหม่ได้ไม่ถึง 50% ของเป้าหมายเท่านั้น อีกทั้งงบประมาณของการรถไฟในแต่ละปีที่มีถึง 10,000-20,000 ล้านบาท ก็มีการเบิกจ่ายได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น และสิ่งสำคัญที่สุดคือในอนาคตภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะให้งบแก่การรถไฟสูงขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า เป็น 40,000-50,000 ล้านบาท
"ถ้าโครงสร้างต่างๆภายใต้แผนปรับปรุงการรถไฟไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก็จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน จึงมีความจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างของการรถไฟโดยเร็ว เนื่องจากโครงสร้างองค์กรเดิมนั้นรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้แล้ว และที่สำคัญการปรับปรุงตามแผนดังกล่าว ก็เพื่อรองรับกับงบประมาณจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นภายใต้ โครงการไทยเข้มแข็งที่การรถไฟจะได้รับในอนาคต"
ทั้งนี้ หากการรถไฟสามารถเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรได้ตามแผนที่วางเอาไว้ภายในระยะเวลา 6 ปีข้างหน้าจะทำให้การรถไฟสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มปริมาณการขนส่งโดยสารได้อีก 25% รวมไปถึงจะเพิ่มจำนวนรถที่วิ่งบนรางอีกร้อยเปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญผลการขาดทุนจากการดำเนินงานขององค์กรจะลดลง เนื่องจากการรถไฟสามารถลงทุนได้เพิ่มขึ้นและสามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอและผลการดำเนินงานที่เป็นเงินสดของบริษัทเดินรถจะเป็นบวกภายใน 3-4 ปี ซึ่งจะส่งผลทำให้รัฐสามารถชดเชยผลการขาดทุนลดลงด้วย โดยเมื่อปี 51 การรถไฟขาดทุน 10,142 ล้านบาท แต่หากดำเนินการปรับโครงสร้างตามแผนจะทำให้มีกำไรตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มแผนทำให้จนถึงปี 61 การรถไฟจะมีกำไรสุทธิที่ 17,785 ล้านบาท.
ทีมข่าวเศรษฐกิจ http://www.thairath.co.th/content/eco/17674
ดูส่วนอื่นๆ ของ Windows Live™ มากกว่าเมล–Windows Live™ เป็นยิ่งกว่ากล่องรับอีเมลของคุณ
มากกว่าข้อความ