From: JeaB <kwanruthai@dpiap.org>
Subject: ยื่นฟ้องห้างค้าปลีกชื่อดัง กล่าวหาเลือกปฏิบัติ
To:
Date: Wednesday, July 1, 2009, 8:07 PM
นักศึกษาสาวอเมริกันผู้พิการ ยื่นฟ้องห้างค้าปลีกชื่อดัง กล่าวหาเลือกปฏิบัติ เหตุถูกสั่งทำงานในโกดัง หลังห้างมีนโยบายรักษาภาพลักษณ์
ใน ช่วงที่ผ่านมา นอกจากข่าวช็อกโลก เรื่องการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ของไมเคิล แจ็คสัน ราชาเพลงป๊อป ก่อนที่จะเปิดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่เพียงไม่กี่วันแล้ว ที่เกาะอังกฤษมีเรื่อง ดังที่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อยู่เรื่องหนึ่งคือ การที่นักศึกษากฎหมาย มหาวิทยาลัยควีน แมรี ซึ่งอยู่ที่เขตกรีนฟอร์ด ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ชื่อ นางสาวเรียม ดีน วัย 22 ปี ได้ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก Abercrombie & Fitch (A&F) ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกชื่อดังของสหรัฐ สาขาซาวิล โรว์ ในกรุงลอนดอน ด้วยข้อกล่าวหาว่า ผู้บริหารของที่นี่ "เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ร่างกายพิการ"
ทั้งนี้ ดีน เกิดมาพร้อมแขนซ้ายที่มีแค่ข้อศอก ทำให้เธอต้องสวมแขนเทียม ตั้งแต่อายุเพียง 3 เดือน อย่างไรก็ดี เธอได้เข้าทำงานเป็นพนักงานของห้างแห่งนี้เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ซึ่งมีกฎว่าพนักงานต้องสวมเครื่องแบบ ซึ่งเป็นเสื้อโปโลแขนสั้น เธอจึงขอสวมเสื้อแขนยาวตัวในเพื่อปิดรอยต่อของแขนเทียมซึ่งต่อที่ข้อศอก แต่หัวหน้าแผนกบอกว่าให้เธอสวมปลอกแขนถักปิดไว้ข้างบนแทนได้
ต่อมามีผู้จัดการซึ่งทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของพนักงาน กลับบอกเธอว่าไม่ให้สวมปลอกแขน เพราะขัดต่อนโยบาย "ดูดี" ของห้าง "จริงๆ แล้วพวกเขาก็ไม่อยากเห็นแขนปลอมของฉันด้วย" ดีนให้การต่อศาล
ดีนให้การด้วยว่า ผู้จัดการชาวสเปนที่ชื่อว่า มาเรีย สั่งให้เธอไปทำงานในห้องเก็บสินค้า อันเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เธอต้องถามว่า ทำไมเธอถึงต้องไปทำงานในห้องเก็บสินค้า
รายงานข่าวกล่าวว่า เธออาจจะเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ เป็นค่าชดเชยต่อประสบการณ์ ซึ่งเธอเรียกว่า "การบริหารงานที่น่าอึดอัดใจ" แต่ทีมทนายของเธอก็ยังไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องการไต่สวนของศาลแต่อย่างใด
ดีนให้การต่อศาลด้วย เธอแจ้งให้เอแอนด์เอฟทราบเรื่องแขนพิการแล้วตั้งแต่แรก และห้างนี้ก็รับเธอเข้าทำงาน โดยยอมให้เธอสวมปลอกแขนถักสีขาวเพื่อคลุมรอยต่อระหว่างแขนเทียมกับข้อศอก ได้ แต่ไม่นานเธอกลับถูกสั่งไม่ให้ทำงานที่แผนกขาย ถ้ายังไม่ยอมเลิกสวมปลอกแขน เพราะขัดต่อนโยบาย "ดูดี" ของห้าง แถมฝ่ายบริหารบางคนบอกว่าเธอควรจะอยู่แต่ในห้องเก็บสินค้า จนกว่าจะถึงเวลาเปลี่ยนฟอร์มเป็นชุดฤดูหนาว
นโยบาย "ดูดี" กำหนดว่า พนักงานทุกคนจะต้องแต่งตัวให้ดูดี เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของห้าง โดยต้องดูเป็นธรรมชาติ ตามสไตล์อเมริกันคลาสสิก ที่กลมกลืนกับแบรนด์ของบริษัทแม้จะอยู่คนเดียว พนักงานทุกคนต้องไว้ผมทรงคลาสสิกและปล่อยเป็นธรรมชาติ ห้ามไว้เล็บยาวเกินเศษ 1 ส่วน 4 นิ้ว วัดจากปลายนิ้ว
"ฉันรู้ว่าตัวฉันถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะความพิการ" เธอยืนยัน และบอกอีกว่า "นโยบายนี้ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกับทุกคน" เพราะมีบางคนที่มีรอยสักเต็มแขนเห็นอยู่ทนโท่ กลับได้รับอนุญาตให้ทำงานอยู่ส่วนหน้าในแผนกขายได้ตามปกติ ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่ามีเหตุผลที่มากกว่านั้น ซึ่งเธอแน่ใจว่าเห็นได้ชัด คือ "ไม่ใช่เพราะต้องสวมผ้าคลุมแขน แต่เป็นเพราะความพิการต่างหาก"
นอกจากนี้ เธอยังบอกด้วยว่า "ฉันเกิดมาแบบนี้ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่พอถูกเลือกปฏิบัติเหมือนเป็นคนกลุ่มน้อย จึงทำให้ต้องตั้งคำถามถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของตัวเองขึ้นมา"
"เอแอนด์เอฟ สอนฉันว่า ความงามคือความสมบูรณ์แบบ แต่ฉันอยากบอกพวกเขาว่า ความงามคือความหลากหลายต่างหาก ฉันเองสามารถอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ มากกว่านโยบายจอมปลอมและการปฏิบัติน่าเกลียดที่อ้างว่าทำเพื่อให้ดูดี ซึ่งเป็นกฎที่พวกเขาออกมาเสียอีก" เธอบอก
เธอให้การต่อศาลคดีแรงงานแห่งกรุงลอนดอนด้วยว่า เธอรู้สึกว่า "ถูกเหยียดหยามมาก" เมื่อผู้จัดการบอกว่าจะให้เธอกลับไปทำงานที่เดิมก็ต่อเมื่อยอมถอดปลอกแขนออก "แต่ก็เถียงไม่ออก เพราะรู้ว่าไม่ทางเอาชนะได้เลย" เธอบอก
เธอให้การต่อศาลด้วยว่า เธอคงไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว "ฉันได้เตรียมมาสำหรับเรื่องที่ว่า เด็กๆ อาจจะสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับความพิการของฉัน แต่พอต้องมาเผชิญกับการถูกคนที่เป็นผู้ใหญ่เลือกปฏิบัตินี่ ยังไม่เคยมีใครเตือนล่วงหน้าเลย" เธอบอก
เจเนวีฟ รี้ด เพื่อนสนิทของดีน ขึ้นให้การต่อศาลว่า ดีนเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ไปทำงานที่นี่ "เธอเริ่มสงสัยว่านี่จะเป็นตอนแรกของปัญหาต่อเนื่อง ที่จะต้องเผชิญอันเนื่องจากความพิการใช่หรือไม่" รี้ด บอกและว่า "การเห็นเพื่อนถูกกระทำเช่นนี้จากบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้หัวใจสลายเหมือนกัน"
ด้าน อาคัช นอว์แบตต์ ตัวแทนของเอแอนด์เอฟ แย้งว่า สิ่งที่ดีนกล่าวถึงนั้นออกจะมากไปหน่อย โดยเขาได้อ้างถึงผลการทดสอบทางการแพทย์ที่ดีนไปรับการทดสอบหลายเดือน ก่อนที่จะไปทำงานที่เอแอนด์เอฟ อันเป็นการตรวจเพื่อรักษาสถานภาพและสิทธิในการขอรับทุนผู้พิการจาก มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า "เธอเป็นคนแปลกแยกจากสังคม" ไม่ยอมใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพราะทนไม่ไหว เขาบอกเธอว่า "เหมือนอย่างที่คุณเป็นในรายงานคือ รู้สึกว่าเรื่องมันรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง ดังนั้นในเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณที่เอแอนด์เอฟนั้น ก็กล่าวเกินจริงไป" ทนายความกล่าว
รายงานชี้ว่า ดีนมีปัญหาเรื่องความหงุดหงิดง่าย ถึงระดับ "หวาดระแวง" ซึ่งสัมพันธ์กับความกลัวที่จะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งนอว์แบตต์ ชี้ว่า คนที่มีปัญหาความหวาดระแวงเช่นนี้ ย่อมไม่สามารถทำงานในร้านที่มีเสียงดังวุ่นวายได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่อ้างต่อศาลด้วย เพราะเธอโกหกเรื่องแบบฟอร์มเรียกค่าชดเชยที่ยื่นต่อศาล
ดีนยอมรับว่า มีบางอย่างที่ระบุในแบบฟอร์มเรียกค่าชดเชยนั้นไม่จริง ตรงที่บอกว่าเธอถูกทีมบริหารของเอแอนด์เอฟเรียกร้องให้ถอดแขนเทียมหลายครั้ง แต่ดีนบอกว่านั่นไม่ใช่ประเด็น และยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาด
ทั้งนี้ ดีน เพิ่งสอบปลายภาคที่มหาวิทยาลัยควีน แมรี ซึ่งอยู่ในกรุงลอนดอนเสร็จเรียบร้อย ขณะที่คดีในชั้นศาลก็ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น ส่วนเราก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า คดีนี้จะลงเอยอย่างไร
................................
หมายเหตุ : ที่มาจากสำนักข่าวบีบีซี, หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน และเดลีเมล
ขออภัยหากอีเมลฉบับนี้เป็นการรบกวน
ขอบคุณค่ะ
ขวัญฤทัย สว่างศรี
Ms. Kwanruthai Savangsri
National Project Coordinator
********************************************************************
Disabled Peoples' International Asia-Pacific Region (DPI/AP)
29/486 Moo 9, Soi 12, Muang Thong Thani, Bangpood Sub-district , Pakkred District Nonthaburi Province 11120 THAILAND
Tel: 66-2503-4268 Fax: 66-2503-4269
Email: kwanruthai@dpiap.org and iam_jeabja@hotmail.com
Website: http://www.dpiap.org/
********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น