เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

ร่วมสร้างกฎหมายกับไอลอว์
Blognone Bookmark and Share

22 มิถุนายน 2552

ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ 2 ทายาท 24 มิถุนา: ศุขปรีดา พนมยงค์-พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา

ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ 2 ทายาท 24 มิถุนา: ศุขปรีดา พนมยงค์-พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา

 
 
วันครบรอบ 77 ปีของการปฏิวัติประชาธิปไตยกำลังจะเวียนมาถึงอีกครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองที่หันมายึดถือประวัติศาสตร์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการต่อสู้
 
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การปลุกกระแสสีเหลืองด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยม แม้จะห้อยท้ายว่า "เพื่อประชาธิปไตย" แต่ก็ทำให้การปฏิวัติ 2475 โดนหางเลขว่า "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "เอาประชาธิปไตยแบบฝรั่งมาใช้" กระทั่งไปถึงว่า รัชกาลที่ 7 ต่างหากเป็นผู้พระราชทานประชาธิปไตย เป็นบิดาแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย
 
ขณะเดียวกันการปลุกกระแสสีแดง ก็เปรียบเปรยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จนกระทั่งมาสู่การนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 27 มิถุนายน และเรียกร้องให้วันที่ 24 มิถุนายนกลับมาเป็นวันชาติ
           
บทสัมภาษณ์ครั้งนี้มิได้มุ่งหมายจะโต้ตอบกระแสฝ่ายใด เพียงต้องการสะท้อนความรู้สึก และถ่ายทอดเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของคณะราษฎร-บิดาแห่งประชาธิปไตยผู้ถูกลืม ถูกให้ร้าย และประสบชะตากรรมต่างๆ กันไป
 
 
ศุขปรีดา พนมยงค์
 
"บางคนก็พยายามที่จะให้ผมไปพูดไปเป็นเครื่องมือบางอย่าง ซึ่งผมไม่พร้อมที่จะทำอย่างนั้น การต่อสู้เดินไปผมไม่ว่า และผมเห็นว่าบางส่วนเขาก็ถูกต้อง แต่จะเอาตัวผมไปอย่างนั้นผมคงทำไม่ได้ เรามองปัญหาต่างกัน ผมมองก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ช่วงนี้มันกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นความยุ่งเหยิงก็มีมากเหลือเกิน"
 
ลูกชายคนเล็กของ อ.ปรีดี เกิดในปี 2478 ตอนที่ อ.ปรีดีเป็น รมว.มหาดไทย "ผมเกิดไม่ทัน
เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ก็ได้ติดตามอยู่"
           
ตอนเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ยังอยู่ชั้น ม.4
 
"ผมมาอยู่บ้านคุณยายที่สีลม ตอนนี้เป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ไปแล้ว ได้ทราบว่ามีทหารคณะรัฐประหารบุกเข้าไปทำเนียบท่าช้าง พวกผมก็ต้องไปอยู่ที่เขตทหารเรือที่สัตหีบ"
 
จนเมื่อจบ ม.ปลาย ก็เดินทางไปอยู่เมืองจีน
 
"ปี 2495 ตอนนั้นมีกบฏสันติภาพ แม่กับพี่ผม (ปาล พนมยงค์) โดนจับ ตอนนั้นมี พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ผมก็รวบรวมรายชื่อเพื่อนๆ เซ็นให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ ได้ข่าวว่าเขาเอาชื่อผมไปในที่ประชุม ก็มีการคัดค้านว่าถ้าทำอย่างนั้นมันรังแกกันเกินไป ผมเลยออกไปอยู่ที่จีนกับพ่อ เรียนมหาวิทยาลัยที่นั่น ต่อมาเมืองจีนยุ่งเหยิง สมัยแก๊งออฟโฟร์ ผมก็มาอยู่ที่ปารีส มาอังกฤษ"
 
มาอยู่ปารีสก่อนแล้ว อ.ปรีดีจึงตามมา ตลอดช่วงเวลานั้นกลับเมืองไทยไม่ได้เพราะสมัยนั้นใครไปเมืองจีนกลับเมืองไทยต้องเข้าคุก จนกระทั่งหลัง 14 ตุลาจึงได้กลับเมืองไทยครั้งแรก แต่พอเกิด 6 ตุลาก็ออกไปอยู่ฮ่องกง เพียงแต่ยุคหลังนี้ยังไปๆมาๆ "ผมอยู่เมืองนอก 37 ปี"
 
กลับมาอีกทีก็มาทำงานให้บริษัทผลิตไฟฟ้า (มหาชน) จนเกษียณแล้วก็ยังเป็นที่ปรึกษาโครงการผลิตไฟฟ้าในลาว เดินทางไปลาวเดือนละครั้ง พร้อมเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
"ผมเป็นนักเขียนอิสระ เขียนเรื่องของเพื่อนบ้าน ประวัติโฮจิมินห์ ชีวประวัติท่านสุภานุวงศ์ บางครั้งมหาวิทยาลัยเชิญไปบรรยายบ้าง แต่ส่วนใหญ่การบรรยายหรืองานเขียนผมจะไม่เข้าไปเขียนเกี่ยวกับเมืองไทย จะเป็นลาว เวียดนาม จีน"
 
เพราะอะไร
"ยังไม่ถึงเวลา ไม่อาจที่จะอยู่ในฐานะที่จะทำอย่างนั้นได้ ผมไม่อยากจะให้นำตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน"
 
"คลื่นในปัจจุบันเป็นคลื่นที่มีปัญหาอย่างที่ทราบกันว่าความคิดไม่ตรงกัน บางคนก็พยายามที่จะให้ผมไปพูดไปเป็นเครื่องมือบางอย่าง ซึ่งผมไม่พร้อมที่จะทำอย่างนั้น การต่อสู้เดินไปผมไม่ว่า และผมก็เห็นว่าบางส่วนเขาก็ถูกต้อง แต่จะเอาตัวผมไปอย่างนั้นผมคงทำไม่ได้ เรามองปัญหาต่างกัน ผมมองก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรบางอย่าง ช่วงนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นความยุ่งเหยิงมันก็มีมากเหลือเกิน"
 
ช่วงหนึ่งเขาก็พยายามดึงอาจารย์ไปร่วม
"ก็เพื่อนฝูง น้องๆ แต่เหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ผมดูแล้วไม่ทราบว่าวิธีคิดเขาเป็นอย่างไร"
 
ใช่ไหมว่าลูกหลานคณะราษฎรจำเป็นต้องปกป้องเจตนารมณ์ 2475 เพราะเกิดกระแสว่าปฏิวัติ 2475 ชิงสุกก่อนห่าม
"อันนี้เราเข้าใจ เราพยายามทำเท่าที่จะทำได้ ก็มองเห็นว่าความยุ่งเหยิงตอนนี้คนที่อยากรู้ความจริงตามอินเตอร์เน็ตมีมากมาย แต่ก็ยังสับสน เรื่อง 2475 ก็พยายามกล่าวหาอยู่ตลอด ทายาทผู้ก่อการก็มีหลายส่วน บางส่วนอาจจะมองว่าถูกเหยียบย่ำ ย่ำยี แต่คิดอย่างไรหรือไม่ ความคิดเขาก็อาจจะต่าง ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกหลานผู้ก่อการมาถึงบัดนี้ก็มีความรักใคร่ ไม่มีปัญหา ทางจอมพล ป. ก็เรียกพี่เรียกน้องกัน เราก็รู้เหตุการณ์ที่ผ่านมา บรรพบุรุษเราร่วมกันฝ่าคมหอกคมดาบมาด้วยกัน ที่เขาพยายามต่อต้านหรือทำลายชื่อเสียงผู้ก่อการ เขามีทั้งกำลังคนกำลังทรัพย์แน่นหนามาก เราไม่มี เขาก็พูดไป ในที่สุดคนก็จะกลับมาคิดเอง แทนที่เราจะออกพร่ำเพรื่อไปกับการโต้เถียง เราก็วางเฉยแทน"
 
มันเริ่มจากไล่ทักษิณ แล้วอ้างสถาบัน แล้วก็พูดต่อไปว่า 2475 ไม่ควรเกิดขึ้น
"ก็เป็นคลื่นที่เอากลับมาใช้อีก ใครเป็นใครอยู่ข้างหลังก็รู้อยู่ ทุกอย่างมันไม่อยู่กับที่หรอก มันต้องดำเนินต่อไป ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่จะต้องมี"
 
ในช่วงที่ผ่านมา เกียรติภูมิของ อ.ปรีดี ได้รับการฟื้นฟูยกย่อง โดยคนที่มีบทบาทสำคัญก็รวมทั้ง ส.ศิวรักษ์ พิภพ ธงไชย แต่ตอนนี้เขาพลิกไปอยู่กระแสสีเหลือง แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โจมตีคณะราษฎรโดยตรง มองแล้วรู้สึกอย่างไร
"คนที่อยู่ในกระแสนั้นก็มีหลายคน เราไม่มีความเห็นปล่อยเขาไป อ.สุลักษณ์ท่านก็เป็นปัญญาชนชนิดพิเศษของท่าน คุณพิภพก็เป็นลูกศิษย์สนิทกับ อ.สุลักษณ์ แม้กระทั่งคนที่เราถือว่ามีประโยชน์อย่างเนาวรัตน์ ก็อยู่ในขบวนการเสื้อเหลือง บางทีเมื่อไปแล้วมันสุดสายป่าน มันดึงกลับไม่ได้"
 
แล้วที่ฝ่ายเสื้อแดงเขาจะเชิดชูวันที่ 24 มิถุนากลับมาเป็นวันชาติ และจะม็อบวันที่ 27
"อันนี้มันเป็นเรื่องของประชาชน แต่ตัวผมไม่เข้าไปเกี่ยว ขอตัว ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปในนั้น"
 
มองแล้วเหมือนเขาจะอาศัยเจตนารมณ์ 24 มิถุนา
"มันก็ในทำนองนั้น เขาอยากจะยึดอะไรบางอย่าง แต่การกระทำบางอย่างก็เลยเถิด"
 
แต่หลักการของอาจารย์ปรีดีที่เขาเอามาพูดเหมือนถูกต้อง
"หลักของ อ.ปรีดีน่ะถูก หลักที่เขาพูด แล้วแต่ว่าเขาจะพูดในช่วงไหน อันนี้สำคัญนะ ต้องแยกแยะ เพราะบางทีพูดเพื่ออะไรบางอย่าง"
 
เจตนารมณ์ 2475 มาถึงวันนี้ยังคงอยู่ไหม
"การต่อสู้กันระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ในสิ่งเก่าที่ได้ถูกลดทอนลงไปจาก 2475 ก็ยังไม่หมดสิ้น ไม่ตายไปเสียทีเดียว อันนี้เป็นเรื่องของทางการเมือง เพราะฉะนั้นก็มีการลุกขึ้นมาใหม่ ต่อสู้ใหม่ สิ่งใหม่เองไปถึงในจุดหนึ่ง ก็ไม่สามารถที่จะผลักดันสังคมให้ไปข้างหน้าได้ มันก็จะกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้อีกระยะหนึ่งทีเดียว จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ถ้าเรามองอย่างนี้เราพอเข้าใจ"
 
แล้วที่มาโทษว่าการเมืองเละเทะเพราะ 2475 เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป
"จะมองอย่างไรก็ได้ อันนี้เราไม่ติดใจ ที่ว่าชิงสุกก่อนห่ามก็เป็นขบวนการ เราเข้าใจ ทันทีที่ได้โอกาส เหมือนตอนเกิดเหตุการณ์วันที่ 9 พ.ย.(2490) ที่โหมกำลังกันเข้ามาตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีตัว อ.ปรีดี จนสำเร็จ ด้วยเหตุการณ์ทางเมืองต่างๆ"
 
อ.ศุขปรีดากล่าวว่า คนรุ่นหลังอาจยังไม่เข้าใจว่า ในยุค 2475 ความศรัทธาต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้เสื่อมลงอย่างมาก
 
"ได้มีลักษณะเสื่อมคลายตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ ประกอบกับผลพวงของเศรษฐกิจ มาถึงรัชกาลที่ 7 มีคนถวายฎีกาเรื่องความเดือดร้อนต่างๆ ความรู้สึกอันนี้มาสร้างขึ้นใหม่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ไปอเมริกาเพื่อต้องการจะยันและต้านคอมมิวนิสต์ ก็ได้กุนซือคนสำคัญ หลวงวิจิตรวาทการ มาชี้แนะให้ปลุกกระแสรักชาติ"
 
มีคนเปรียบเทียบว่าทักษิณก็โดนเล่นงานเหมือน อ.ปรีดี จริงๆ แล้วเหมือนไหม
"ไม่น่าจะเหมือนกัน เพราะ อ.ปรีดีไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ถ้าจะเหมือนกันก็คือการถูกกระทำทางการเมือง แต่ไม่ควรเปรียบเทียบ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน ในการมองสังคมไปข้างหน้าพ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าใจวิวัฒนาการของสังคมที่มองไปข้างหน้า แต่เป็นคนเก่งในการแก้ปัญหา ในการจับมาเข้าแถวหมวดหมู่ ความชำนาญในการเป็นนักธุรกิจ แต่การมองทางการเมืองมีไม่มาก ในสมัยหนึ่งถึงต้องมีคนเดือนตุลามาให้ความคิดความเห็น บางส่วนก็ดี บางส่วนท่านก็ไม่ฟัง"
           
คนเปรียบเทียบเพราะทักษิณโดนคล้ายๆ อ.ปรีดีหลายอย่าง
"อันนั้นก็ว่ากันไป ในทางการเมืองอาจจะใช่ ในประเทศใดในยุคใดมันก็มีลักษณะเช่นนี้ ประเทศที่มีความก้าวหน้าเจริญแล้วเขาก็ผ่านมาแล้ว เมืองไทยยังไม่ไปไหนสักที 2475 แล้วยังไม่ไปไหนสักที"
 
บอกด้วยว่ามีคนพยายามโยงว่าแม่คุณหญิงพจมานนามสกุล ณ ป้อมเพชร เหมือนท่านผู้หญิงพูนศุข
"จริงๆ แล้วก็ญาติห่างๆ ไม่เคยไปมาหาสู่กัน ถ้าโยงกันอย่างนี้ คุณยายภรรยาคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องนับว่าเป็นญาติสนิทกว่า เพราะคุณยายภรรยาคุณอภิสิทธิ์กับคุณแม่ผมเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน"
 
"คุณตาผมถือเป็นวงในของรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานนามสกุล สมัยก่อนใครเป็นญาติกันแล้วไม่มีนามสกุลก็มาขอใช้ แต่ก็ดีเหมือนกัน เห็นว่าคุณพจนีย์สนใจบริเวณตำบลป้อมเพชร ที่อยุธยา ไปซื้อที่บูรณะ"
 
แต่ถึงเป็นญาติอภิสิทธิ์ก็ไม่นิยม ปชป.แน่เพราะประวัติศาสตร์ 2490
 
"ตอนนั้นมันเป็นการยุยงเตรียมการของพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีสวรรคต หลังรัฐประหารนายควงเป็นนายกฯ แต่เป็นได้ไม่นานทหารก็เขี่ยออก อันนี้ก็คล้ายกับการขับไล่ทักษิณ ประชาธิปัตย์ก็มีส่วน พรรคประชาธิปัตย์ผมก็มีเพื่อนหลายคน แต่เขานับถือปูชนียบุคคลของเขาซึ่งมีลักษณะตลบตะแลงเอาบ้านเมืองเป็นเครื่องเล่น ตั้งแต่สมัยหม่อมคึกฤทธิ์เป็นสมาชิกรุ่นแรก หม่อมเสนีย์ นายควง ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาอยู่กันได้"
 
 

ลูกหลานเข้าใจกัน
 
อ.ศุขปรีดาบอกว่าวันที่ 24 มิถุนายนทุกปี ลูกหลานคณะผู้ก่อการจะไปทำบุญที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งน้อยคนที่จะรู้ว่าเดิมทีวัดนี้ชื่อ "วัดประชาธิปไตย"
 
"ที่ไปเป็นประจำก็มีลูกหลานทางบ้านผม ทางจอมพล ป.พิบูลสงคราม คนอื่นๆ ก็มีไปหลายคน หลังจากนั้นก็จะถวายสังฆทานที่วัด เพราะถือว่าวัดพระศรีเป็นวัดที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สร้างขึ้น เดิมชื่อวัดประชาธิปไตย"
 
เรื่องนี้เคยเขียนลงในหนังสืองานศพท่านผู้หญิงพูนศุขแล้ว
 
"เหตุผลคือในเมื่อผู้ก่อการได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็มีวัดประชาธิปไตย
โดยความต้องการทางพระพุทธศาสนาอยากจะเห็นมหานิกายกับธรรมยุตินิกายรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแต่ภายหลังก็ไม่สามารถเป็นได้ ท่านเจ้าคุณพหลฯก็บวชเป็นพระที่วัดนี้เป็นองค์แรก"
 
"ในความคิดผมมองว่าเป็นการอโหสิกรรมอย่างหนึ่ง แนวรบ 2475 (กบฎบวรเดช) ก็ได้ยิงกันในบริเวณนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกพลทหาร เกณฑ์มาจากโคราชก็ล้มหายตายจากไป ก็คงจะดำริอันนี้ด้วย หลังจากนั้นมาทางอินเดียขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ก็ขออัญเชิญมาเมืองไทย โดยแต่งตั้งคณะผู้แทนไปคือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ วัดนี้เลยชื่อวัดพระศรีมหาธาตุ เอาต้นศรีมหาโพธิมาปลูก ส่วนการก่อสร้างถ้าคุณเข้าไปดูเป็นอุโบสถแบบวัดเบญจมบพิตร มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ดินส่วนหนึ่งมารดาท่านพิชัย รัตตกุลเป็นผู้บริจาค ก่อสร้างโดยกรมรถไฟ หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการคนหนึ่งควบคุมการก่อสร้าง มีหลวงวิจิตรวาทการมาร่วมดูแลด้วยในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร นี่คือประวัติวัดพระศรีมหาธาตุ คุณแม่ท่านได้จากโลกนี้ไปท่านก็ได้ระบุแล้วท่านไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น สรีระของท่านก็ไปเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านสั่งไว้ว่าให้มาฌาปนกิจที่วัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งเราก็ทำเมื่อปลายปีที่แล้ว"
 
บอกว่ากับลูกหลานจอมพล ป.ก็ไม่ได้มีปัญหาต่อกัน
"เรียกพี่เรียกอา คนโตท่านเป็นผู้หญิงเกือบ 90 แล้ว คนเล็กคุณนิตย์ พิบูลสงคราม อ่อนกว่า
ผม 6 ปี"
 
"ตอนจอมพล ป.อยู่ในอำนาจก็มีหลายช่วง ช่วงสุดท้าย จอมพล ป.มองเห็นความบริสุทธิ์ของ อ.ปรีดี และเห็นว่านโยบายตามก้นอเมริกามันไม่ไหว ระยะหลังท่านก็ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับ อ.ปรีดี เมื่อกลางปี 2500 ท่านตกลงให้คณะทนายไปพบ อ.ปรีดี เพื่อให้ศาลเปิดคำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต เรื่องใหญ่มากนะ ผมไปรับรองคณะทนายที่เดินทางไปเมืองจีน ทนายกลับมาปลายเดือน ส.ค.2500 พอ 16 ก.ย.2500 สฤษดิ์ทำรัฐประหาร ด้วยเหตุผลบางอย่าง เหตุผลที่อเมริกาไม่พอใจจอมพล ป. คบกับจีน เหตุผลที่จะให้ศาลมีคำตัดสินใหม่ เลยต้องรีบทำอะไรเสียก่อน"
 
"หลังจากนั้นท่านผู้หญิงละเอียดได้สร้างพระพุทธชินราชจำลองขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งให้จอมพลป. ส่วนอีกองค์ให้พ่อผม ตอนนี้อยู่กับผม เป็นการนัดหมายว่าถึงเวลาคงจะได้มาพบกันที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้พบ ในที่สุดอยู่มาวันหนึ่งจอมพล ป.มีจดหมายถึงคุณพ่อ ลงท้ายเป็น ปล. เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ว่า please อโหสิ เขียนอย่างนี้พ่อผมก็เข้าใจ เพราะฉะนั้นอาจจะด้วยอันนี้ ทำให้พวกเราถือว่าอโหสิหมดแล้ว"
 
กับ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี อ.ศุขปรีดาก็บอกว่าไม่ติดใจแม้มีเรื่องเคยฟ้องร้องกัน
"คืออย่างนี้ สมัยหลังๆ ท่านไม่ค่อยมีอะไรทำ ก็ไปนั่งตามโรงแรมใหญ่ๆ พวกรุ่นหลังเรียกท่านว่าเจ้ากรม คนหนึ่งเป็นนักเขียน ให้เล่าเรื่องให้ฟังแล้วจะเขียน เขียนออกมาผิดข้อเท็จจริง ท่านปรีดีเลยฟ้อง เขาจะทำเป็นหนังสือแบบเรียนเลยนะ ศาลสั่งเก็บ แต่ว่าถ้าพูดถึง 2475 คนที่ร่วมสองคนแรกคือคุณประยูรกับ อ.ปรีดี เดินด้วยกันบนถนนที่ปารีส คุณประยูรสังเกต อ.ปรีดีแล้วถามว่าอาจารย์คิดอะไรอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด 7 คน"
 
อ.ศุขปรีดากล่าวว่า บุคคลสำคัญอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าไม่ค่อยมีคนศึกษาประวัติและคุณูปการของท่าน
 
"ตอนนี้เพิ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์ รวบรวมประวัติเตรียมจัดพิมพ์เรื่องท่านเจ้าคุณพหลฯ ผมเคยไปงานรำลึกถึงท่านที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ทหารกล่าวสดุดี ทหารเขียน-ไม่มีเกี่ยวกับ 24 มิ.ย.เลย ผมอดไม่ได้ก็ถาม-ไม่กล้าเขียน เขียนเพียงว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารบก ว่ากันไปอย่างนั้น"
 

 
 
  
พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา
 
 
“คิดหรือว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ ไม่จริงหรอก มีปฏิวัติกี่ครั้งผมบอกเลย มีครั้งเดียวที่ผมเชื่อ 24 มิ.ย.2475 เพราะครั้งนั้นไม่มีหรอกนิรโทษกรรม ถ้าไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิด เพราะ 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นพ่อผมทำด้วยความมุ่งหมายสูงสุด ไม่เหมือนอย่างไอ้พวกนี้ทั้งหลายแหล่ที่มันปฏิวัติโดยอ้าง 3 ประ เหมือนเป็นนะโมตัสสะ ประเทศชาติ ประชาธิปไตย ประชาชน แต่ 3 ประนี้ไม่เคยได้ประโยชน์จากการอ้างของมันเลย”
 
 
ลูกชายคนกลางของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา กับท่านผู้หญิงบุญหลง ใส่เสื้อยืดที่ยังเปื้อนจากการทำงานในบ้านยืนคุยกับเราในบ้านเช่าที่เป็นบ้านไม้โทรมๆ อยู่ในซอยลึกย่านรามอินทรา นี่คือลูกอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย นำอำนาจมาให้ปวงชนชาวไทย
 
แต่ถึงบ้านจะเก่า ก็เป็นระเบียบเรียบร้อย ในบริเวณยังมีต้นไม้ผลไม้หลายชนิดที่ปลูกไว้ บอกว่าได้มาจากคุณแม่ ท่านผู้หญิงบุญหลง ที่ทำเองทุกอย่างเพื่อเลี้ยงลูก 7 คน หลังจากพระยาพหลถึงแก่อนิจกรรม
 
“เห็นเขาขายกับข้าวกันแล้วนึกถึงคุณแม่ผม ฝีมือท่านถ้าเรียนไว้บ้างคงสบาย คุณแม่ผมทำเองทุกอย่าง แม้แต่น้ำบูดูก็ทำเป็น น้ำปลาก็ทำเอง เผาถ่านเอง เทียนพรรษายังหล่อเอง เพราะมีผึ้งหลวงทำรังอยู่ที่บ้านในตอนนั้น”
 
ลูกนายกฯผู้มีเงิน 25 บาท
 
พระยาพหลถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2490 สิ่งที่ครอบครัวได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลก็คือมีบ้านให้อยู่ เพราะพระยาพหลไม่มีบ้าน อาศัยวังปารุสก์อยู่มาตั้งแต่ 2475
 
“พอหลังจากทำศพคุณพ่อเสร็จรัฐบาลจอมพล ป. ก็ไปขอคุณแม่ขอใช้วังปารุสก์เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร และให้คุณแม่ผมไปอยู่ที่ ปตอ. เป็นบ้านเก่าที่ท่านอยู่ตอนเป็น พ.ท. อยู่หัวมุมปตอ. ริมคลองบางซื่อ ใกล้กับสะพานพิบูลฯ ที่จะไปบางโพ อยู่ปีเดียวเพราะตอนนั้นมันไกล เท่าๆ กับชานเมือง ย้ายมาอยู่บ้านสวนอัมพวัน ที่สี่เสาเทเวศร์ เดิมเป็นบ้านคุณท้าวในรัชกาลที่ 5 มี 2 หลัง ตอนนี้รู้สึกจะเป็นสมาคมจันทบุรีและที่ตั้งของสภาโอลิมปิก ปี 2510 จอมพลถนอมมาขอคุณแม่บอกว่าอยากจะได้บ้านหลังนี้ทำสภาการศึกษาแห่งชาติ แล้วให้ไปอยู่บ้านที่ยึดจากจอมพลสฤษดิ์ที่ซอยจอมพล ที่ให้ภรรยาน้อยอยู่”
 
ตรงนั้นอยู่ได้ไม่นาน ท่านผู้หญิงก็ย้ายไปซื้อที่ดินอยู่ที่นครชัยศรี จนท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2531 ทรัพย์สมบัติที่มีบ้างก็คือที่ดินแต่ขายหมด
 
“เช่นที่บางเขน ใครผ่านไปแถวนั้นจะเห็นชื่อซอยท่านผู้หญิงพหลฯ คุณพ่อซื้อสมัยเป็นร้อยโทร้อยเอก ไร่ละ 20 บาท ขายเพราะไม่มีจะกิน คุณแม่คนเดียวต้องเลี้ยงลูก 7 คน ที่รังสิตก็ขาย บ้านบางซื่อที่คุณพ่อกับคุณป้าปลูกด้วยกันก็ต้องขายเพราะไม่มีเงินจะเลี้ยงพวกผม”
 
“สมัยจอมพล ป. คุณแม่บอกว่า ปรับเงินเดือนข้าราชการ แล้วบำนาญของท่านเจ้าคุณล่ะ โอ๊ย ท่านผู้หญิงอย่าให้ผมไปเกี่ยวข้องกับเงินท่านเจ้าคุณเลยครับ เดี๋ยววิญญาณท่านรู้ท่านจะไม่พอใจผม ถ้าท่านผู้หญิงเดือดร้อนอะไรบอกผม เดี๋ยวผมจัดการให้ แต่อย่าให้ผมไปแตะต้องบำนาญของท่านเลย”
 
“ท่านเป็นคนซาดิสซึ่ม (หัวเราะ) โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ตรงวัดพระศรี เป็นที่ของคุณพ่อ จอมพล ป.เป็นนายกปุ๊บ ออกกฎหมายเวนคืนที่ตรงนั้นสร้างโรงเรียน แล้วมาถามคุณพ่อว่าใต้เท้าโกรธผมหรือเปล่า คุณพ่อก็ถามว่าคุณหลวงถามผมทำไม ที่ผมแกล้งเวนคืนที่ของใต้เท้าทำโรงเรียน เอ๊ะ คุณหลวงผมจะไปโกรธคุณหลวงได้ยังไง คุณหลวงจำได้ไหมเมื่อวันที่ 24 มิถุนา หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ข้อหนึ่งระบุว่าจะบำรุงการศึกษาของชาติให้เจริญ แล้วเมื่อคุณหลวงเห็นที่ของผมจะมีประโยชน์กับการศึกษา ผมควรจะดีใจไม่ใช่ไปโกรธ จอมพลป.ท่านหน้าหงายเลย ท่านแกล้งใครมีแต่โกรธ แต่แกล้งคุณพ่อดันไม่โกรธ”
 
เล่าว่าหลังจากพระยาพหลออกจากราชการก็ไม่มีรายได้อะไรนอกจากบำนาญ
 
“มีที่ก็เก็บค่านาแต่ละปี เป็นข้าวบ้าง ตอนคุณพ่อเสียมีเงินติดบ้านอยู่ 25 บาท เพราะฉะนั้นคุณแม่ยิ่งกว่าประเสริฐ ผู้หญิงคนเดียวตัวเล็กๆ อายุไม่เท่าไหร่ ฟันฝ่าชีวิตเลี้ยงลูก 7 คนรอด รัฐบาลเขาก็ให้อยู่บ้านฟรีบ้าง ให้รถใช้บ้าง แต่ไม่ใช่แค่นั้นแล้วอยู่ได้ จนรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ คุณแม่ไปหาคุณบุญมา วงศ์สวรรค์ รัฐมนตรีคลัง ไม่เคยรู้จักกัน คุณธานินทร์ก็ไม่รู้จัก เข้าไปพบคุณบุญมาเล่าว่าบำนาญไม่เคยได้รับการปรับเลย คุณบุญมาก็เรียกปลัดกระทรวงมา ตรวจสอบก็จริง โห ตั้งกี่สิบปีไม่ได้ปรับ คุณบุญมาก็บอกท่านผู้หญิงครับ เราจะพยายามทำให้ถูกต้องแต่ขอร้องท่านผู้หญิง อย่าเรียกดอก รัฐบาลไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาให้ เพราะไม่ได้จ่ายมา 20-30 ปี ตามกฎหมายต้องเสียดอกด้วย แต่จะปรับให้ถูกต้อง”
 
ตอนนั้นเองที่ได้ปรับจากบำนาญ 1,600 บาทมาเป็น 8,000 บาท
 
“เวลาเขาปรับเงินเดือนข้าราชการ ข้าราชการบำนาญจะได้ปรับด้วย แต่ของคุณแม่ไม่เคยได้รับการปรับเลย”
 
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับ อ.ปรีดี ที่ต่อมาได้ฟ้องรัฐบาลว่าไม่จ่ายบำนาญเลย และเรียกดอกเบี้ยด้วย
 
“ก็ทำกับท่านกับครอบครัวเจ็บปวดแค่ไหน พี่ปาลถูกแกล้งเกณฑ์มาเป็นพลทหาร อยู่บางกระบือ แล้วยังจับเข้าคุก สารพัด ครอบครัวท่านน่าสงสารมาก ทำเพื่อคนทั้งประเทศแต่ตัวเองได้รับกรรมแค่ไหน”
 
ทางพระยาพหลอาจยังเบากว่า เพราะเหมือนเป็นคนกลาง และพ้นจากอำนาจไปก่อน
 
“เหมือนใครจะทะเลาะกันก็คุณพ่อ อย่างคุณอาควง เวลาปีใหม่ก็ไปหา มามานั่งตักอา มีอะไรจะมาคุยกับอาปีนี้ ไหนเขาบอกว่าคุณหลวงพิบูลกับคุณอาควงไม่ถูกกัน ไม่ใช่ อากับตาแปลกเป็นเพื่อนกัน แต่ตาแปลกตอนมันมีอำนาจมันแกล้งอา มันตั้งให้อามียศพันตรีเพื่อจะไปเป็นลูกน้องมัน อาก็ต้องไปรายงานตัวกับมันที่ศูนย์ปืน ลพบุรี วันดีคืนดีมันก็เอารถถังมาจอดหน้าบ้าน เฮ้ยตาควงแกขึ้นเป็นนายก อยู่ไปอยู่มาอารถจิ๊ปติดปืนกลมา บอกเฮ้ยแกลงจากเก้าอี้นายกได้แล้ว คุณอาควงเป็นคนอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ผมชอบประชาธิปัตย์ แต่มาตอนนี้ไม่เอาเลย”
 
 
จากนายสิบเป็น ผบ.รถถัง
 
เชื่อหรือไม่ว่า ลูกอดีตผู้บัญชาการทหารบก แทนที่จะเข้า ร.ร.นายร้อย จปร.กลับเข้า ร.ร.นายสิบ
 
“ผมมาเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเพราะประชดแม่ โกรธว่าแม่ไม่รักเพราะผมถูกตีมากกว่าเพื่อน แต่ผมไม่ได้ดูเลยว่าตัวผมเองเกเร สารพัดที่จะทำ คิดว่าตัวเองเป็นคนดี มองเห็นแต่ตัวเองตลอด และก็โทษสิ่งแวดล้อมว่าเขาไม่รักเรา พวกพี่ๆ ล้อว่าผมเป็นเด็กเก็บจากกองขยะ ก็เชื่อเป็นตุเป็นตะ พอถูกคุณแม่ตีมากก็โกรธคุณแม่หาว่าคุณแม่ไม่รัก กว่าจะหายโง่ก็แก่แล้ว”
 
“ผมเข้าโรงเรียนนายสิบ ผู้การชาติชายท่านจะไม่รับตอนนั้นท่านเป็นพลจัตวา ผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ พอเห็นนามสกุลท่านเรียกไปถาม คุณเป็นอะไรกับเจ้าคุณพหล ผมเป็นลูก คุณเป็นลูกแน่ๆ หรือ แน่ครับ แม่คุณชื่ออะไร ท่านผู้หญิงบุญหลง เรียกคุณชายเลย คุณชายมาเข้าทำไมนักเรียนนายสิบ ทำไมไม่เข้าโรงเรียนนายร้อย ผมสอบไม่ได้ครับ ได้สิเดี๋ยวจัดการให้ ไม่เอา แกงงเลย รองผู้บัญชาการ พ.อ.ศรี พาคุณชายไปพบท่านผู้หญิงเดี๋ยวนี้ ให้มาเข้าได้ยังไงนักเรียนนายสิบ พ.อ.ศรีท่านก็พานั่งรถไปที่บ้าน โกรธคุณแม่ ยังไงก็ไม่ยอม อยากจะแต่งเครื่องแบบ เดี๋ยวเอาเครื่องแบบให้แต่ง สิบเอกก็ได้ อยากจะขับรถถังจะพาไปฝึกขับ แต่ไม่ต้องเป็นนักเรียนนายสิบ มันโหดร้ายทารุณ รองศรีบอกว่าดื้อน่าดูเลย ตามใจอยากจะไปเรียนก็ไป ใต้เท้ายอมให้คุณชายไปเรียนหรือครับ คุณแม่บอกตามใจเขา เราก็คิดว่านักเรียนนายสิบเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป ที่ครูพูดว่าเธออย่างนั้นเธออย่างนี้ พอไปเจอของจริงมันไม่ใช่ ตรงกันข้ามเลย”
 
เข้า ร.ร.นายสิบปี 2500 จบแล้วก็รับราชการเป็นทหารชั้นประทวนธรรมดา จนปี 2511 ไปรบเวียดนาม ตอนนั้นเป็นสิบเอก บอกว่าอยากได้ประสบการณ์เพราะเป็นทหารก็ต้องไปรบ แม้จะเข้าใจการต่อสู้ของคนเวียดนามและมีเชื้อสายเวียดนาม
 
“ตระกูลผมทั้งพ่อทั้งแม่ 4 เผ่า ไม่มีเลือดไทยเลย คุณปู่ผมพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) เป็นฮกเกี้ยน คุณย่าผมเป็นมอญบางไส้ไก่ คุณตาจีนแต้จิ๋ว คุณยายญวน หลานยาลองหว่าง เฮ ผมไปเวียดนามเพื่อให้ได้ประสบการณ์ว่าฉันได้รบ คิดว่าตายก็ช่างมันเพราะไม่มีใครรักอยู่แล้ว แต่พอไปแล้วหลายสิ่งหลายอย่างสอนให้เรามองเห็นตัวเองว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง”
 
“พอกลับจากเวียดนาม ลงจากเครื่องบิน คุณแม่ยืนรอรับวิ่งไปถึงกราบที่เท้าเลย บุญคุณแม่นี้ใหญ่หลวง เรานี่เลวมาตลอดเลย ไม่เคารพรัก ผมถูกยิงหมวกทะลุ หัวไหล่ทะลุ ตอนนั้นหลับอยู่เวียดกงเข้าตี ฝันว่าคุณพ่อกับคุณแม่มายืนในที่สลัวๆ มาเรียก-แมว! (ชื่อเล่น) ตื่น ข้าศึกกำลังเข้าตี ผมลืมตาเฮ้ยของจริง ปืนครกหล่นปั๊บระเบิดตูมสะเก็ดเฉียดจมูกไปหน่อยเดียว ผมเป็นพลขับรถ คว้าเสื้อเกราะ ใส่รองเท้าแบบไม่ต้องผูกเชือก วิ่งไปเตรียมขับรถ ปรากฏว่าข้างหน้ายิงมากราวใหญ่ขึ้นรถข้างหน้าไม่ได้ ก็มาขึ้นข้างหลัง ต้องกลายเป็นผู้อำนวยการสั่งยิงวันนั้น เพราะผู้หมวดไม่อยู่ บอกระยะเพื่อนให้ยิง ทางนี้ 500 เมตร 10 นัด ขับรถไปยิงไปด้วยขับไปด้วย”
 
เป็นทหารสังกัด ม.พัน 4 หน่วยที่มีบทบาททางประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งในลูกน้องของ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร สอบจากนายทหารชั้นประทวนขึ้นเป็นร้อยตรี เลื่อนตำแหน่งจนเป็นพันตรีผู้บังคับกองร้อย แล้วลาออกจากราชการเมื่อปี 2529 หลังกบฎ 9 กันยาหน่อยเดียว เพราะถูกไม่ไว้วางใจแม้จะไม่ได้ร่วมกับนายเก่าก่อกบฎ
 
“แกเป็นผู้พัน ผมเป็นจ่า” เล่าถึง พล.ต.มนูญกฤต “เดิมตอนเป็นนักเรียนนายร้อยผมเรียกแกพี่เปี๊ยกๆ พอจบโรงเรียนนายร้อยแกไปอยู่โคราช ม.พัน 8 เจอหน้ากันก็หวัดดีครับพี่เปี๊ยก แกก็ดีกับผม สมัยนั้นแกยังไม่มีบทบาทด้านการเมือง”
 
“เมษาฮาวายผมเกี่ยว แต่ครั้งหลังผมไม่เกี่ยว เพราะผมเห็นแล้วว่าไม่ได้ประโยชน์ เมษาฮาวายนี่อย่าว่าแต่ประตูเลย รูแพ้สักนิดก็ไม่มี เพราะทุกฝ่ายเอาหมด ผมไปเป็นผู้บังคับกองร้อยรถถังขนาดใหญ่อยู่ที่สระบุรี มนูญสั่งให้ผมเตรียมรถถัง มีหน้าที่ลงมาล้อมดอนเมือง วันนั้นผมก็เตรียมรถถัง ตั้งแถวไว้เรียบร้อย เช้าขึ้นประกาศปฏิวัติ พอเที่ยงกว่าๆ ในหลวงเสด็จไปโคราช โห ขบวน 60-70 คัน ยาว 2 กิโลได้ พอตกเย็นพล.ต.อาทิตย์ รองแม่ทัพภาค 2 พูดวิทยุ อยู่สระบุรีฟังชัดทั้ง 2 สถานี โรคประสาทจะกินผม”
 
โชคดีที่ไม่มีคำสั่งให้ลงไปกรุงเทพฯ ครั้งนั้นจึงรอดไป ไม่อยู่ในกลุ่มกบฎ แต่มาโดนครั้งหลัง
 
“เพราะความหูเบาของผู้ใหญ่ หาว่าผมซ่องสุมกำลังปฏิวัติ เชื่อหรือว่าผมทำ เชื่อ เชื่อเพราะอะไร เพราะว่าแมวเป็นลูกคุณพ่อและเป็นลูกน้องมนูญ แค่ 2 อย่างนี้หรือผมต้องปฏิวัติ พี่เห็นไหมผู้การมนูญ ตอนนั้นเขา พ.อ. เขายศอะไร เขาจบมาจากไหน แล้วผมจบมาจากไหน เขายังทำไม่สำเร็จ ผมนี่อย่าว่าแต่ชวนคนเลย ชวนหมาหมาก็ยังไม่เอากับผม แล้วพี่คิดหรือว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ ไม่จริงหรอก มีปฏิวัติกี่ครั้งผมบอกเลย มีครั้งเดียวที่ผมเชื่อ 24 มิ.ย.2475 เพราะครั้งนั้นมันไม่มีหรอกนิรโทษกรรม ถ้าไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิด เพราะ 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นพ่อผมทำด้วยความมุ่งหมายสูงสุด ไม่เหมือนอย่างไอ้พวกนี้ทั้งหลายแหล่ที่มันปฏิวัติโดยอ้าง 3 ประ เหมือนเป็นนะโมตัสสะ ประเทศชาติ ประชาธิปไตย ประชาชน แต่ 3 ประนี้ไม่เคยได้ประโยชน์จากการอ้างของมันเลย”
 
ย้อนไปสมัยที่สอบนายทหารได้ ก็สอบได้ด้วยตัวเอง หลังจากเป็นนายสิบถึงสิบกว่าปี
 
“ผมสอบนายทหารได้ปี 2517 ทั้งเหล่าทหารม้าไปสอบที่ศูนย์การทหารม้า สระบุรี 425 คน เอา 12 คน วันแรกแต่ละคนคุยนักคุยหนารู้ข้อสอบ มีเส้นสาย เราก็คิดว่าปีนี้หาประสบการณ์ ปีหน้าค่อยสอบใหม่ แต่รุ่งขึ้นหายไป 300 พวกที่หลบจากดอยลงมาพัก อยู่บนดอยเสี่ยงกับผกค. ลงมาพัก 7 วันยังดี แล้วเขาจะเอาเวลาที่ไหนดูหนังสือ ไม่เหมือนกองพันทหารม้าที่ 4 เป็นจอมหลักการ มีวินัย มีความรู้ ก็สอบได้ที่ 1 ใน 425 คน”
 
“นายเปรมท่านเป็นผบ.ศม. (ศูนย์การทหารม้า) วันนั้นท่านแจกประกาศนียบัตรหลักสูตรนายสิบอาวุโส ท่านถามว่านี่เราสอบยังไงถึงได้ที่หนึ่ง ผมก็บอกผมได้ที่ 4 ครับ เพราะผมได้ที่ 4 ของนายสิบอาวุโส ท่านก็ยิ้มพยักหน้า พวกอาจารย์ทั้งหลายแหล่ก็มานั่งเลี้ยงโต๊ะจีนมื้อกลางวัน ดีใจด้วยนะๆ อาจารย์ดีใจกับผมเรื่องอะไรครับ อ้าวไม่รู้เหรอ เราน่ะสอบนายทหารได้ที่ 1 คะแนนรวม 92 กว่า”
 
“ผมสอบได้ปี 2517 ทำหน้าที่นายทหาร 1 ปี ติดนายทหารปี 2518 ไปเป็นผู้หมวดรถถังอยู่อีกองร้อยหนึ่ง มีนายทหารที่ท่านชอบผม จบโรงเรียนเสธมา เป็นผู้กองลาดตระเวน ท่านก็บอกกับผู้พันมนูญ พี่นูญผมขอแมวมาอยู่ลาดตระเวนด้วยกัน ผู้พันมนูญก็บอกแมว อุดมชัยเขาอยากจะได้แมวไปอยู่ ลว.ไปไหม แล้วแต่ผู้พันครับ งั้นพรุ่งนี้ไปอยู่กับเขาเลย ผมก็เลยไปอยู่ลาดตระเวน ได้วิชาความรู้มาอีกเยอะ ก็คือพล.อ.อุดมชัย องคสิงห์ ที่เป็นเลขารัฐมนตรีกลาโหม คุณสมัคร”
 
 
ต้องรู้ว่าลูกใคร
 
ออกจากทหารได้รับบำนาญเพียงเดือนละ 5 พันกว่าบาท ต่อมาปรับเป็น 8 พันกว่าบาท อาแมวบอกว่าปัจจุบันทรัพย์สินที่เหลือก็มีแต่ที่ของคุณแม่ ที่นครชัยศรี แต่ไม่มีเงินไปปลูกบ้าน
 
“พี่เสียหมดแล้ว เหลือผมและน้องอีก 3 คน น้องชายเป็นนายตำรวจที่ไม่ได้ท่า เพราะยศสูงสุดแค่พ.ต.ท. วันดีคืนดีเขาก็ย้ายไปต่างจังหวัดตั้งนาน เพราะรีดไถคนไม่เป็น อยู่ตรวจคนเข้าเมือง เขาล็อกทุกตำแหน่ง มีว่างไม่ใช่ไม่มี แต่ทุกตำแหน่งไม่เหมาะกับคนอย่างคุณ เพราะไม่รู้จักวันเกิดนาย รีดไถคนไม่เป็น ซองก็ไม่ต้องการ เขาวางไว้ให้บนโต๊ะก็ไม่เอา เพราะคุณแม่บอกว่าแกจะเป็นตำรวจก็เป็นได้ แต่แกต้องรู้ว่าแกเป็นลูกใคร คุณพ่อเคยทำอะไรไว้ไหมที่สกปรก เพราะฉะนั้นแกอย่าทำ”
 
น้องชายชื่อ พ.ต.ท.พรหมมหัชชัย “ท่านเจ้าคุณพรหมมุนีซึ่งตอนหลังเป็นสมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจฯ ท่านเป็นคนตั้งชื่อให้ เขาเพิ่งเกษียณเมื่อเร็วๆ นี้ ตอนเขาเป็นร.ต.อ. ผมเป็นร.ท. พอผมร.อ. เขาก็ร.ต.อ. ผม พ.ต. เขาก็ร.ต.อ. จนคุณแม่ต้องไปถามรอง อตร.สมัยนั้น ว่าลูกฉันทำผิดอะไรถึงไม่ได้ยศสูงขึ้น ท่านตกใจก็เรียกกำลังพลมาดู เอ๊ะเงินเดือนเขา พ.ต.ท.แล้วทำไมยัง ร.ต.อ. ก็เรียกหัวหน้า ตม.มา ไหนเอาตำแหน่งมาดูสิ มีตำแหน่งตั้งเยอะแยะทำไมไม่ให้เขา ไปจัดการเดี๋ยวนี้ นั่นแหละติดพ.ต.ต. ไม่ถึง 6 เดือน ก็ติดพ.ต.ท.เพราะเงินเดือนเขา พ.ต.ท. แต่พอคนที่หากินทางวิทยุเสียงสามยอดเป็น อ.ตร.ก็ออกคำสั่งย้าย บอกเจ้าตัวสมัครใจ ย้ายไปอยู่วิเชียรบุรี”
 
“คุณพ่อผมมีแม่ 2 คน คนแรกคุณป้าพิศ เป็นพี่สาวคนโตของคุณแม่ แต่คุณป้าพิศไม่สามารถให้ลูกกับคุณพ่อได้ คุณป้าพิศก็เลยยกคุณแม่ให้กับคุณพ่อ ตอนนั้นคุณแม่ยังเด็กอยู่ ก็มีลูกกับคุณพ่อ 7 คน”
 
“คนโตพี่พาภรณ์ เสียนานแล้ว ไม่มีครอบครัว ตอนหลังท่านเสียสติ หลังจากจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไปอังกฤษแล้วโดนแกล้งคุณแม่ต้องไปรับตัวกลับมา คนที่สองชื่อพรจันทร์ เป็นภรรยานายทหารเรือ พล.ร.อ.วินิจ ศรีพจนาถ คนที่ 3 พี่ชาย พล.ต.ชัยจุมพล ผมเป็นคนกลาง น้องสาวอีก 2 คน พวงแก้ว กับผจี ผจีอยู่ที่นครชัยศรี พวงแก้วอยู่กับสามีและหลานๆ ที่ลาดพร้าว”
 
ความจริงพระยาพหลนามสกุลพหลโยธิน แต่ลูกๆ มาเปลี่ยนเป็นพหลพลพยุหเสนา
 
“คุณแม่บอกว่าบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อจะสูญหาย พหลโยธินมันเยอะ ดีก็มีชั่วก็เยอะ เพราะฉะนั้นเอาบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อมาเป็นนามสกุล ก็ทำขอกระทรวงมหาดไทย ผมกับน้องชาย พี่ชายก็ขอใช้ มาเป็นพหลพลพยุหเสนา
 
“อาแมว” รับว่า     เอาใจช่วยเสื้อแดง แต่บางอย่างก็ไม่ไหวเหมือนกัน เช่นการยกม็อบไปพัทยา หรือแท็กซี่ปิดอนุสาวรีย์ชัย
 
“ผมเป็นทหารได้คลุกคลีกับชาวบ้าน เห็นความเดือดร้อนของเขา เพราะฉะนั้น 30 บาทรักษาทุกโรคมันอาจจะไม่ได้ดีที่สุดแต่มันก็ยังดีที่ทำให้เขาได้พบหมอ สมัยก่อนผมได้แต่ช้ำใจ เพราะผมช่วยเขาไม่ได้ เนี่ยลุงป้าไม่สบายทำไมไม่ไปหาหมอ ฉันจะเอาเงินที่ไหนไปหา เราได้ยินทีไรเราช้ำใจแต่เราช่วยเขาไม่ได้ แล้ววันดีคืนดีมีคนชื่อทักษิณบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค” นี่ยอมรับตรงๆว่าชอบทักษิณในบางเรื่อง
 
แล้วที่เสื้อแดงจะชุมนุมวันที่ 24 ให้เป็นวันชาติ
“อย่าพรวดพราดๆ อย่าชิงสุกก่อนห่าม ตื๊อเท่านั้นครองโลก ตื๊อเข้าอย่ารุนแรง ตื๊อเข้าไปจนกว่าคนในประเทศเขาจะเห็นใจ และคนรอบๆ เราเห็นใจจนทั่วโลกเห็นใจ อองซานซุจีดูสิกี่สิบปี แกเจ็บตัวไม่เป็นไร แต่คนทั้งโลกจะมองพม่ามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นอย่าไปเอาตัวเป็นที่ตั้ง เหมือนอย่างคราวที่แล้วดันไปเอาทักษิณเป็นที่ตั้ง พวกตามล้างตามเช็ดตามกระทืบ ครอบครัวเขาเดือดร้อน ฉะนั้นค่อยเป็นค่อยไป ตื๊อ ฝ่ายนั้นเขามีคนครอบกบาลอยู่ ฝ่ายนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง”
 
ตอนนี้ก็มีคนกลับมาพูดว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ไม่น่ารีบปฏิวัติ
“แล้วถามว่าเขาทำอะไรบ้างที่จะทำให้คนได้รู้จักประชาธิปไตย ไม่มีทาง ถ้าเผื่อไม่ทำมันก็ยังเป็นราชาธิปไตย ไม่มีหรอกที่ราชาธิปไตยจะเอาประชาธิปไตยมาให้”
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก

ผู้ติดตาม