ลุ้นก.ค.ดีเดย์ย้ายเบอร์ข้ามค่าย กทช.ล็อกคอค่ายมือถือตั้งเคลียริ่งเฮาส์ใน 3 เดือน
"กทช." เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์คงสิทธิ์เลขหมาย หรือ Mobile Number Portability ล็อกคอค่ายมือถือตั้งเคลียริ่งเฮาส์ภายใน 3 เดือน หลังประกาศมีผลบังคับใช้ คาดบอร์ดเซ็นอนุมัติสัปดาห์หน้า และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเดือน ก.ค. 2552นี้ ขณะที่ประเด็นค่าธรรมเนียม 300 บาท/ครั้ง ผู้บริโภคมองว่าแพงเกินไป
นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า กทช.มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การคงสิทธิ์เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Mobile Number Portability (10 มิ.ย. 2552)ที่ผ่านมา แต่มีการปรับแก้รายละเอียดอีกเล็กน้อยก่อนนำเสนอ กทช.ลงนามในสัปดาห์หน้าแล้วจะส่งไปตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ โดยภายในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ประกอบการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มาประชุมพร้อมชี้แจงถึงแนวทางและกระบวนการทำงานอย่างละเอียด
สำหรับรายละเอียดในร่างฉบับดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาใน 2 ประเด็นหลัก คือเรื่องค่าธรรมเนียมการย้ายเลขหมาย และการจัดตั้งเคลียริ่งเฮาส์ (clearing house) ซึ่งร่างฉบับเดิมระบุว่า มีค่าธรรมเนียม 300 บาท/ครั้ง แต่ร่างฉบับนี้ระบุเพียงว่าเป็นไปตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด หมายความว่า กทช.จะออกประกาศเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมภายหลัง อย่างไรก็ตาม กทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อให้เป็นอัตราที่จะประกาศสะท้อนต้นทุน ส่วนกรณี clearing house ระบุเพียงว่าให้ผู้ประกอบการรับภาระในการจัดตั้งและดำเนินการทั้งหมด แต่จะเป็นรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง
"เราอยากให้ MNP ใช้ได้ในปีนี้ ดังนั้นหลังประกาศมีผลบังคับใช้แล้วภายใน 3 เดือน ผู้ประกอบการต้องดำเนินการจัดตั้ง clearing house ให้เสร็จ แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างเร็วมาก เอกชนอาจทำไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลาในการตกลงรายละเอียดรูปแบบการจัดตั้งบริษัทกลางที่ดูแลข้อมูลเลขหมายและจัดซื้อซอฟต์แวร์ด้วย ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็ต้องมาดูกันว่ามีปัญหาอะไรตรงไหนบ้าง"
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลักเกณฑ์การคงสิทธิ์เลขหมาย เป็นนโยบายตามแผนแม่บทฉบับที่ 1 ของ กทช. ซึ่งกำหนดให้เสร็จภายในปี 2550 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน จึงนำมาบรรจุเป็นนโยบายหลักในแผนแม่บทฉบับที่ 2 ซึ่งเริ่มทำร่างหลักเกณฑ์และดำเนินการประชาพิจารณ์ครั้งแรกในปี 2551 จากนั้นก็หยุดชะงักไปอีก เนื่องจากผลการรับฟังความเห็นสาธารณะระบุว่าผู้บริโภคคิดว่าอัตราค่าธรรมเนียม 300 บาท/ครั้งแพงเกินไป
ขณะที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการรับภาระการลงทุนตั้ง clearing house แต่อยากให้ กทช.ลงทุนและดำเนินการเอง หลังจาก กทช.ตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดได้หารือในประเด็นดังกล่าวด้วย แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงใช้วิธีตัดรายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมและ clearing house ออกไปก่อน เหลือเฉพาะหลักการเพื่อให้ร่างประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว
ด้านขั้นตอนและกระบวนการในการย้ายเลขหมาย ผู้ใช้บริการต้องไปที่สำนักงานของผู้ให้บริการรายใหม่ เพื่อแสดงความจำนงว่าต้องการเปลี่ยนค่าย ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความเป็นเจ้าของเลขหมาย กรณีโทรศัพท์แบบเติมเงิน ผู้ถือ SIM ถือเป็นเจ้าของเลขหมาย โดยอาจทดลองโทร.เข้าเลขหมายดังกล่าว ตรวจสอบว่าเป็น SIM ที่นำมาแสดงจริงหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะกรอกข้อมูลใน clearing house เพื่อเช็กว่าเลขหมายดังกล่าวเป็นของผู้ให้บริการรายเดิมหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาจะออก SIM ใหม่ที่มีเลขหมายเดิมให้พร้อมเก็บค่าธรรมเนียม และนัดวันเวลาว่า SIM ของรายใหม่จะใช้งานได้เมื่อใด ซึ่งระหว่างรอ SIM ค่ายเดิมยังใช้งานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถใช้สิทธิ์การคงเลขหมายได้ เช่น บางโปรโมชั่นที่มีข้อผูกพันว่าต้องมีระยะเวลาการใช้งานขั้นต่ำกี่เดือน หากยังไม่ถึงกำหนดก็ไม่สามารถย้ายค่ายได้ หรือกรณีผู้ใช้แบบรายเดือนต้องชำระค่าบริการค้างจ่ายให้หมดก่อน หรือหากไม่ถึงวันครบรอบบิล ผู้ให้บริการรายเดิมอาจเรียกเก็บเงินก่อน เมื่อเคลียร์ต่างๆ ได้แล้วจึงจะใช้สิทธิ์การคงเลขหมายได้ เช่นเดียวกับผู้ใช้บริการแบบเติมเงินที่มีเงินเหลือใน SIM ก็ต้องจัดการใช้ค่าโทร.ที่เหลือให้หมดก่อน เพราะเงินที่เหลืออยู่กับโอเปอเรเตอร์รายเดิมจะไม่ย้ายตามไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น