เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

ร่วมสร้างกฎหมายกับไอลอว์
Blognone Bookmark and Share

22 มิถุนายน 2552

รายงานประชาธรรม: เรื่องของข้าวเสรี

รายงานประชาธรรม: เรื่องของข้าวเสรี

ใครจะคิดว่าประเทศไทยที่ส่งออกข้าวมากกว่าปีละ 4 ล้านตันจะต้องนำเข้าข้าวเสรี แต่ข้อเท็จจริงคือภายในวันที่ 1 มกราคม 2553 นี้ ประเทศไทยจะต้องลดภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือร้อยละศูนย์หรือเรียกว่า นำเข้าข้าวเสรี ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (AFTA: ASEAN Free Trade Agreement)

อันที่จริงประเทศไทยถูกบีบให้เปิดเสรีนำเข้าข้าวมานานแล้วจากทั้งกลไกขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน (AFTA) แต่เราซื้อเวลาให้เกิดการนำเข้าแบบไม่เก็บภาษีเลยมานานเกือบยี่สิบปี อย่างไรก็ดี เวลาที่ผ่านมาไม่มีความหมายนัก เนื่องจากประเทศไทยมิได้มีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการผลิตและการค้าข้าวอย่างจริงจัง ประกอบกับไม่มีมาตรากรที่เป็นรูปธรรมในการลดต้นทุนหรือเพิ่มมูลค่าทางการผลิตที่ทำให้เกษตรกรได้เปรียบมากขึ้นในวงจรการผลิตข้าว ดังนั้น สภาพชาวนาจึงสุมรุมด้วยหนี้สิ้นตลอดมา คำล้อเลียนในหมู่ชาวนาที่ว่า ปลูกข้าวนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้ ปลูกข้าวนาปีเหลือแต่หนี้กับซัง จึงยังเป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น พลันที่กระทรวงพาณิชย์เปิดประเด็นเรื่องนำเข้าข้าวเสรี เปิดเวทีสาธารณะสอบถามความคิดเห็นชาวนาว่า จะเอาอย่างไรกับการนำเข้าข้าวเสรี ชาวนาผู้ไม่รู้จึงได้แต่เพียงทวงถามถึงราคารับจำนำข้าวของปีนี้และปีถัดไป

มีข้อมูลที่น่าสนใจนำมาเผยแพร่เกี่ยวกับการนำเข้าข้าวหลายประเด็นด้วยกัน ในที่นี้ขอกล่าวถึงบางประเด็นที่น่าควรนำมาเป็นข้อถกเถียงสาธารณะ คือ ผลของมาตรการแทรกแซงราคาข้าวของรัฐที่มีต่อการนำเข้าข้าว

เป็นที่ทราบดีว่า ในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้เงินในการอุ้มราคาข้าวหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา การประกาศราคารับจำนำข้าวที่สูงกว่าตันละ 10,000 บาท ได้กลายเป็นราคาชี้นำและมีอิทธิพลต่อราคาตลาดมากกว่ากลไกตลาดปกติ ชาวนาจึงเฝ้ารอการประกาศราคารับจำนำของรัฐบาล และพอใจจะขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำมากกว่าการขายให้พ่อค้าทั่วไป แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการขายเข้าโครงการหลายเงื่อนไข เช่น การจำกัดโควตาการรับจำนำของเกษตรกร โดยให้เพดานรับจำนำไม่เกินรายละ 350,000 บาทหรือเฉลี่ย 29 ตัน

แต่จากการที่ราคารับนำสูงนี้เอง ทำให้เกิดการนำเข้าข้าวเข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ผ่านมา ข้าวที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยจะเป็นข้าวประเภทเม็ดสั้น เช่น ข้าวญี่ปุ่น (Japonica rice) ตามความต้องการของบริโภคของคนบางกลุ่มมากกว่าการนำเข้าข้าวเม็ดยาว (Indica rice) แบบเดียวกับที่ปลูกกันส่วนใหญ่ในประเทศไทย แต่ผลของนโยบายแทรกแซงราคาทำให้ราคาข้าวภายในประเทศสูงขึ้นจนทำให้ราคาข้าวขาว 5% ภายในประเทศมีราคาแตกต่างกับราคาข้าวในประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา และเวียดนาม มากกว่า 4,000 บาทต่อตัน เช่นนี้จึงทำให้เกิดการนำเข้าข้าวทั้งแบบถูกกฎหมายและลักลอบนำเข้าเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่หวั่นวิตกว่า การนำเข้าข้าวเสรีตามระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันจะกลายเป็นช่องทางให้เกิดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่ามาสวมสิทธิขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวคราวมาแล้วในกรณีการรับจำนำข้าวโพด

ซึ่งในกรณีนี้ กระทรวงพาณิชย์เห็นว่ามีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการสวมสิทธิดังกล่าวก่อนมีการเปิดเสรี แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อาจการันตีได้อย่างร้อยเปอร์เซนต์ว่า ระเบียบการนำเข้าข้าวที่กำลังร่างอยู่นั้นจะแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่  เพราะกลไกที่กระทรวงพาณิชย์ร่างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น (1) การกำหนดผู้นำเข้าข้าว (2) การจำกัดด่านการนำเข้า (3) การกำหนดระยะเวลาการนำเข้า ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้ ไม่ได้ผล มาแล้วกับการนำเข้าสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง เพราะวันใดที่ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศสูง บรรดาผู้นำเข้าก็จะพากันยื่นเรื่องขอนำเข้าจากต่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดต้นทุนการประกอบการของตนเองลง โดยอ้างเหตุผลสารพันตั้งแต่การจ้างงานไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อ ไม่นับรวมถึงการทุจริตคอรัปชั่นที่ทำให้ทุกปัญหาในประเทศไทยกลายเป็นปัญหาโลกแตก

ดังนั้น การตั้งวงเสวนาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องการเปิดเสรีนำเข้าข้าวที่ผ่านมา ที่จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่จึงมีบรรยากาศจืดชืด เนื่องจากตัวแทนของหน่วยงานรัฐที่ขึ้นเวทีอภิปรายก็ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกได้ว่า กลไกในแต่ละข้อที่ยกร่างกันขึ้นมานั้น เมื่อนำมาปฏิบัติจริงแล้วจะมีข้ออ่อน-ข้อแข็งอย่างไร นอกจากนี้แล้วผู้เข้าร่วมเสวนาที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนาจาก 7 จังหวัดในภาคเหนือยังไม่ได้ทำการบ้านก่อนที่จะมาเข้าร่วมเวที การแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้นอย่างแกนๆ และชาวนาทั้งหลายก็กลับบ้านไปพร้อมกับการ รับทราบ ว่า กำลังจะมีการเปิดเสรีนำเข้าข้าว... เท่านั้น

น่าเสียดายที่เวทีลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ครั้งในจุดใหญ่ๆ ของแต่ละภูมิภาค เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นกรณีการเปิดตลาดข้าวเสรีภายใต้พันธกรณีอาฟตา น่าเสียดายที่ชาวนายังมิทันรู้จักว่าอาฟตาคืออะไร น่าเสียดายที่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกชงขึ้นไปเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเป็นนโยบายการบริหารจัดการนำเข้าข้าวก่อนที่จะมีการเปิดเสรีนำเข้าข้าวอย่างสมบูรณ์ในปีหน้า น่าเสียดายที่ผลลัพธ์หรือบทสรุปรายงานถูกให้ความสำคัญมากกว่ากระบวนการได้มา

และนี่เองจึงที่เป็นที่มาของการกล่าวหาว่า การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่รองรับคำตอบที่มีอยู่แล้ว วันนี้หากจะเริ่มต้นพูดเรื่องข้าวเสรี ควรที่จะเริ่มต้นการตอบคำถามที่ถามกันมาเกือบร้อยปีแต่ยังไม่ได้คำตอบว่า เหตุใดชาวนาถึงยากจน

http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24799

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก

ผู้ติดตาม