เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

ร่วมสร้างกฎหมายกับไอลอว์
Blognone Bookmark and Share

18 มิถุนายน 2552

จากปัญหาสู่ทิศทางการปรับตัวในอุตสาหกรรมสุกร กรณีศึกษา จังหวัดนครปฐม

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4115  ประชาชาติธุรกิจ


จากปัญหาสู่ทิศทางการปรับตัวในอุตสาหกรรมสุกร กรณีศึกษา จังหวัดนครปฐม


คอลัมน์ L&S Hub

โดย รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศฤงคารินทร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล



จากการศึกษาระบบโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสุกร เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์มีจุดเริ่มต้นจากแม่พันธุ์สุกรจะได้รับการผสมเทียมกับน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ ซึ่งมีอายุครรภ์อยู่ที่ 116 วัน โดยแม่พันธุ์สุกร 1 ตัว สามารถให้กำเนิดสุกรได้ประมาณ 10 ตัว ลูกสุกรเหล่านี้มีเวลาอยู่กับแม่สุกร 24 วัน แม่สุกรจะถูกย้ายกลับไปยังโรงเรือนผสมพันธุ์ ส่วนลูกสุกรจะได้รับการดูแลที่โรงเรือนอนุบาล หลังจากนั้น 1 เดือน ลูกสุกรจะถูกส่งไปที่โรงเรือนหมูขุนใช้เวลา 3 เดือน ให้สุกรมีน้ำหนักที่ประมาณ 100 กิโลกรัม ดังนั้นกว่าจะเป็นสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่สามารถจำหน่ายได้นั้น ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 249 วัน

สุกรขุนที่มีน้ำหนักครบจะถูกจัดส่งไปยังโรงชำแหละเนื้อสุกร กระบวนการชำแหละ ได้แก่ การแยกหัวสุกร เครื่องในสุกร และผ่าสุกรออกเป็น 2 ส่วน สุกรที่ผ่านการชำแหละแล้วจะถูกขายให้กับพ่อค้าขายเนื้อสุกรชำแหละ (พ่อค้าที่เขียง) เพื่อนำไปชำแหละเป็นชิ้นส่วนที่เล็กลง เพื่อขายส่งหรือขายปลีกเนื้อสุกรชำแหละให้กับแม่ค้าตลาด ร้านอาหาร และโรงงานแปรรูป ได้แก่ ผู้ผลิตหมูยอ ลูกชิ้น แหนม กุนเชียง หมูหย็อง หมูแผ่น หมูเด้ง

ค่าอาหารและต้นทุนโลจิสติกส์ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อสุกร

ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับสุกรแต่ละตัวนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาขายเนื้อสุกรชำแหละ ทั้งนี้ต้องการทราบว่าต้นทุนส่วนใดที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อราคาขายสุกร จึงได้คำนวณต้นทุนรวมและต้นทุนโลจิสติกส์ตามฐานกิจกรรม โดยต้นทุนของสุกรแต่ละตัวตั้งแต่ฟาร์มสุกรถึงเขียง ประกอบไปด้วยค่าน้ำเชื้อ ค่าวัคซีน ค่าอาหาร ค่าชำแหละ ค่าเช่าแผง และต้นทุนโลจิสติกส์ จากต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นพบว่า ร้อยละ 68.14 หรือ 4,545.36 บาท/ตัว เป็นต้นทุนค่าอาหาร อาหารที่นำมาเลี้ยงสุกรนั้น ได้แก่ มันสำปะหลัง และกากถั่ว ซึ่งราคาอาหารสุกรนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และรองลงมาเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ อันได้แก่ กระบวนการต่างๆ เช่น การเคลื่อนย้ายสุกร กระบวนการ สั่งซื้อ การบริการลูกค้า การหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บสินค้า ส่วนนี้คิดเป็น 1,622.216 บาท/ตัว หรือร้อยละ 24.28



ต้นทุนค่าอาหารสุกรจึงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาขายสุกร ผลจากการคาดการณ์ราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม พบว่าเมื่อต้นทุนค่าอาหารสุกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จะส่งผลให้ราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้น 2 บาท/กิโลกรัม คือจากเดิมเคยมีราคาอยู่ที่ 60 บาท/กิโลกรัม (ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2551) เพิ่มขึ้นเป็น 62 บาท/กิโลกรัม จากราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังราคาขายของชิ้นส่วนสุกรที่เขียง และราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูปต่างๆ ให้มีราคาสูงขึ้นด้วย

"ชิ้นส่วนสุกรที่เหลือจากเขียง ไปอยู่ที่ไหนและเกิดอะไรขึ้น"

ในแต่ละวันนั้น ชนิดและปริมาณความต้องการในการบริโภคเนื้อสุกรมีความแตกต่างกัน สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เขียงจะต้องเตรียมเนื้อสุกรชำแหละให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า แต่เนื่องจากตัวลูกค้านั้นไม่ได้ต้องการทุกชิ้นส่วนจากสุกรชำแหละ จึงทำให้เกิดชิ้นส่วนเนื้อสุกรชำแหละบางส่วนที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ ชิ้นส่วนสุกรชำแหละที่เหลือ บางส่วนถูกจัดเก็บโดยการแช่แข็ง และบางส่วนขายให้กับโรงงานแปรรูปในราคาที่ต่ำกว่าทุน

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ จึงเกิดคำถามที่ว่า "ถ้าขายเนื้อสุกรชำแหละที่เหลือแล้วขาดทุน เราควรทำอย่างไรกับของเหลือเหล่านี้ดี" !

"สนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสุกร"

จังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงสุกรเป็นอันดับสองของประเทศไทย (ศูนย์สารสนเทศ กรมปศุสัตว์, 2551) และมีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรอยู่เป็นจำนวนมาก ผลจากการศึกษาปริมาณการแปรรูปเนื้อสุกรในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พบว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมสุกรของจังหวัดนครปฐมมีการขายในรูปของเนื้อสุกรสดชำแหละเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการแปรรูปเนื้อสุกรชำแหละเป็นผลิตภัณฑ์ มีเพียงร้อยละ 9.44 ของการผลิตเนื้อสุกรทั้งหมด และเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนกำไรต่อปริมาณการผลิตที่เกิดขึ้น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มีสัดส่วนที่มากกว่าการขายเนื้อสุกรชำแหละหน้าเขียง ดังนั้น "การส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ประกอบกิจการการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจึงควรเกิดขึ้น"

"เพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปเท่าไรจึงจะเหมาะสม ?" เพื่อหาปริมาณการแปรรูปที่ควรจะเพิ่มขึ้น โดยพิจารณาจากจุดที่ทำให้เกิดกำไรเท่ากันระหว่างปริมาณการเปลี่ยนแปลงของการขายเนื้อสุกรสดและการแปรรูป พบว่าควรแปรรูปเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 9.44 ไปเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด หรือมีปริมาณการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรอยู่ที่ 1,913,514.23 กิโลกรัม/เดือน

เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูป 7 ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างผลกำไรได้สูงสุด โดยทดลองกระจายเนื้อสุกรชำแหละในปริมาณที่เท่ากันคือ 273,359.18 กิโลกรัม (1,913,514.23 หาร 7 เท่ากับ 273,359.18 กิโลกรัม) เข้าสู่กระบวนการผลิตในแต่ละชนิดผลิตภัณฑ์ ผลที่ได้พบว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูปที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับจังหวัดนครปฐมได้มากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์แหนม รองลงมาเป็นหมูยอ และลูกชิ้น ตามลำดับ จากผลการทดลองที่ได้นี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงทิศทางของผลิตภัณฑ์ที่ควรแปรรูป ทั้งนี้ตัวเลขจากผลกำไรที่ได้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถระบุลงไปถึงชนิดผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมได้ จำเป็นต้องพิจารณาทางด้านปริมาณของสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ความต้องการของ ผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย

หน้า 10
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก

ผู้ติดตาม